วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2559

บริหารเงินสดอย่างไร…ให้ได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 323%

บริหารเงินสดอย่างไรให้ได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 323%
     จากข่าวการลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไปของธนาคาร TMB เหลือ 0% ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา กลายเป็นTalk of the town จนถึงขั้นต้องเปลี่ยนดอกเบี้ยกลับมาเท่าเดิม วันนี้ผมขอนำเสนอวิธีการบริหารเงินสด ที่จะทำให้ดอกเบี้ยของคุณเพิ่มขึ้นถึง 323%

     หากคนเราอยู่ในช่วงวัยทำงาน บางคนก็มีการวางแผนที่จะนำเงินไปใช้เพื่อเป้าหมายของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็น การแต่งงาน การซื้อรถยนต์ การซื้อคอนโด/บ้าน ฯลฯ จึงคิดที่จะหาที่เก็บเงินสักแห่งที่จะสามารถให้ผลตอบแทนได้
…..บางคนเลือกเก็บเงินไว้กับตัวเอง
…..บางคนเลือกที่จะเก็บเงินในบัญชีออมทรัพย์
…..บางคนเลือกเก็บเงินในบัญชีฝากประจำ

     การนำเงินไปเก็บในบัญชีออมทรัพย์มากๆ บางคนอาจจะ "เข้าใจผิด" ถึงรูปแบบในการทำงานของบัญชีออมทรัพย์ จริงๆแล้วบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปนั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ "เราเอาเงินไปใช้ มากกว่า เอาเงินมาเก็บไว้" ดังนั้นการเก็บเงินในออมทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง (สามารถฝาก-ถอนเมื่อไหร่ก็ได้) นั้นอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักในการได้รับอัตราดอกเบี้ยที่สู

     จุดประสงค์ที่ผมเขียนอันนี้ขึ้นมา เพื่อที่จะให้ถึงความสำคัญของแหล่งเก็บเงินแต่ละที่ หากเรายอมเสียเวลาในการเปลี่ยนที่อยู่ของเงินสักเล็กน้อย มันก็จะสามารถทำให้คุณได้รับดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมากทีเดียว

     ผมขอนำเสนอให้เห็นภาพ จากการมีเงินสด 100,000 บาทนะครับ และฝากเงินเป็นระยะเวลา 1 ปี ในสถานที่ที่แตกต่างกันครับ

***หากใครไม่ต้องการอ่านยาวๆ เลื่อนลงไปข้างล่างเลยครับ***
…..
………
…………..
กรณี 1 ผมเก็บเงินในบัญชีออมทรัพย์ทั่วไป ของธนาคาร TMB ที่กำลังเป็นข่าว อัตราดอกเบี้ย 0.125% ต่อปี 
สิ้นปีจะได้รับดอกเบี้ยเท่ากับ 0.125%*100,000 = 125 (ผมขอไม่คิดดอกเบี้ยทบต้นทุกครึ่งปีนะครับ อาจจะทำให้บางคนสับสน)
จากดอกเบี้ยที่ได้รับนั้นจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ทำให้เราได้รับดอกเบี้ยสุทธิเท่ากับ = 106.25 บาท (500*(1-0.15)) อ่านไม่ผิดหรอกครับ -หนึ่งร้อยหกบาทกับยี่สิบห้าสตางค์- เท่านี้จริงๆ

กรณี 2 ผมเก็บเงินในบัญชีออมทรัพย์ทั่วไป ให้อัตราดอกเบี้ย 0.50% ต่อปี (เฉลี่ยจากอัตราดอกเบี้ยธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงไทย) เป็นแบบที่คนส่วนใหญ่กำลังทำอยู่นะครับ
สิ้นปีจะได้รับดอกเบี้ยเท่ากับ 0.50%*100,000 = 500 (ผมขอไม่คิดดอกเบี้ยทบต้นทุกครึ่งปีนะครับ อาจจะทำให้บางคนสับสน)
จากดอกเบี้ยที่ได้รับนั้นจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ทำให้เราได้รับดอกเบี้ยสุทธิเท่ากับ = 425 บาท (500*(1-0.15))

กรณี 3 ผมเก็บเงินในบัญชีออมทรัพย์พิเศษ ธนาคาร TMB No fix ให้อัตราดอกเบี้ย = 1.40% ต่อปี 
สิ้นปีจะได้รับดอกเบี้ยเท่ากับ 1.40%*100,000 = 1,400 (ผมขอไม่คิดดอกเบี้ยทบต้นทุกครึ่งปีนะครับ อาจจะทำให้บางคนสับสน)
บัญชีออมทรัพย์ตัวนี้จะไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ถ้าดอกเบี้ยของเราไม่เกิน 20,000 บาทครับ แต่ก็มีเงื่อนไขที่เราต้องทำตามเล็กน้อยคือ "ยอดฝากต้องมากกว่ายอดถอนในแต่ละเดือน" นะครับ

กรณี 4 ผมเก็บเงินใน ME by TMB ให้อัตราดอกเบี้ย = 1.80% ต่อปี
สิ้นปีจะได้รับดอกเบี้ยเท่ากับ 1.80%*100,000 = 1,800 (ผมขอไม่คิดดอกเบี้ยทบต้นทุกครึ่งปีนะครับ อาจจะทำให้บางคนสับสน)
บัญชีออมทรัพย์ตัวนี้จะไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ถ้าดอกเบี้ยของเราไม่เกิน 20,000 บาทครับ แต่ก็มีเงื่อนไขที่เราต้องทำตามเล็กน้อยคือ "ยอดฝากต้องมากกว่ายอดถอนในแต่ละเดือน" นะครับ
…...
………..
……………..

****ถ้าใครไม่อยากอ่านยาวๆ สรุปตรงนี้นะครับ****


- ดอกเบี้ยสุทธิบัญชีออมทรัพย์ทั่วไป ธนาคาร TMB = 106.25 บาท
- ดอกเบี้ยสุทธิบัญชีออมทรัพย์ทั่วไป 4 ธนาคารใหญ่ = 425 บาท (กรณีฐาน)
- ดอกเบี้ยสุทธิบัญชีออมทรัพย์พิเศษ TMB No fix = 1,400 บาท (ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 2.29 เท่า = 229% จากดอกเบี้ยสุทธิบัญชีออมทรัพย์ทั่วไป 4 ธนาคารใหญ่)

- ดอกเบี้ยสุทธิบัญชี ME by TMB = 1,800 บาท (ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 3.23 เท่า = 323% จากดอกเบี้ยสุทธิบัญชีออมทรัพย์ทั่วไป 4 ธนาคารใหญ่) หรือหากเทียบกับดอกเบี้ยสุทธิบัญชีออมทรัพย์ทั่วไป ธนาคาร TMB ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นถึง 15.94 เท่า เลยทีเดียว!!!


     อย่าลืมครับ การที่เราจะบริหารเงินสดของเรามันก็อาจจะมีต้นทุนบ้างเล็กน้อย อย่างบัญชีออมทรัพย์พิเศษ และ ME by TMB นั้นเราต้องมียอดฝากมากกว่ายอดถอนในแต่ละเดือน  ส่วน ME by TMB นั้นเป็นระบบฝากเงินแบบอัตโนมัติและถอนเงินผ่านอินเตอร์เน็ต แต่ผมเชื่อว่าถ้าเทียบกับผลตอบแทน (ดอกเบี้ย) ที่เราได้รับสูงขึ้นแล้วนั้นมันคงไม่เกินความพยายามครับ

     ปล. จริงๆแล้วใครที่ทำงานอยู่ตามองค์กรใหญ่ๆ อย่าลืมไปดูอัตราดอกเบี้ยตามสหกรณ์ออมทรัพย์ที่คุณทำงานอยู่ ผมว่าอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าการฝากในธนาคารทั่วไปอย่างแน่นอนครับ
     
     ขอบคุณทุกคนที่สละเวลาอ่านบทความของผมนะครับ....หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์กับทุกท่านไม่มากก็น้อยนะครับ ขอให้ทุกคนตั้งเป้าหมายทางการเงินของแต่ละคนด้วยครับ แล้วพบกันใหม่

ท๊อป Financeplus

หมายเหตุ
* อัตราดอกเบี้ยที่คำนวณนั้นให้เท่าเดิมตลอดระยะเวลา 1 ปี
** ดอกเบี้ยของบัญชีออมทรัพย์สามารถขอคืนภาษีได้นะครับ แต่ผมคิดว่าน้อยคนจะนำมาขอคืน เลยถือว่าถูกหัก ณ ที่จ่ายเลย